แนวปฏิบัติเพื่อความยั่งยืนของการไฟฟ้านครหลวง

แนวปฏิบัติเพื่อความยั่งยืนของการไฟฟ้านครหลวง มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บุคลากรของการไฟฟ้านครหลวง มีความรู้ความเข้าใจ และบูรณาการในดำเนินงานอย่างเป็นระบบและเกิดประสิทธิผล สอดคล้องตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยมีรายละเอียด ดังนี้

นโยบายการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของการไฟฟ้านครหลวง

มุ่งมั่นดำเนินงานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี ควบคู่กับการพัฒนาทิศทางการดำเนินงานขององค์กรผ่านการมีส่วนร่วมกับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความสมดุลในการดำเนินงานขององค์กรให้เกิดความยั่งยืน ภายใต้หลักการ “3P” (Prosperity, People, Planet)

ขอบเขตการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของการไฟฟ้านครหลวง

  • ด้านเศรษฐกิจ สร้างการเติบโต ความมั่นคงทางฐานะการเงิน ด้วยระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ คุณภาพตามมาตรฐานและการบริการที่สะดวกรวดเร็ว สร้างสรรค์นวัตกรรมการบริการที่ตอบสนองต่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร ภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดี
  • ด้านสังคม สร้างการยอมรับและไว้วางใจ และการปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ผ่านการดำเนินงานที่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยคำนึงถึงความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พร้อมดำเนินการพัฒนาศักยภาพบุคลากรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนและสังคมอย่างต่อเนื่องผ่านกระบวนการดำเนินงานขององค์กร
  • ด้านสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการดำเนินงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของเป้าหมายการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนทั้งในระดับประเทศ และสากลโลก

โครงสร้างหน้าที่และความรับผิดชอบ


  1. คณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวง พิจารณาทบทวนนโยบาย วัตถุประสงค์ และขอบเขตการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน ตลอดจนติดตามผลการดําเนินงาน และรับทราบรายงานความยั่งยืนของการไฟฟ้านครหลวง
  2. คณะอนุกรรมการบริหารผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม กําหนดนโยบาย วัตถุประสงค์ และขอบเขตการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน แนวทางการส่งเสริมและเสนอแนะให้องค์กรมีการดําเนินงานการพัฒนาความยั่งยืนที่มุ่งเน้นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม พิจารณาแผนแม่บทและแผนปฏิบัติเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมก่อนนําเสนอคณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวงเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนเริ่มต้นปีงบประมาณ และติดตามผลการดําเนินงาน
  3. คณะอนุกรรมการพิจารณาแผนวิสาหกิจและการลงทุน พิจารณาแผนวิสาหกิจของการไฟฟ้านครหลวง ประกอบด้วย วิสัยทัศน์ ภารกิจ วัตถุประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ ตัวชี้วัด ยุทธศาสตร์ แผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของการไฟฟ้านครหลวง ก่อนนําเสนอคณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวงเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และติดตามผลการดําเนินงานแผนปฏิบัติเชิงยุทธศาสตร์อย่างน้อยไตรมาสละ 1 ครั้ง
  4. ผู้บริหาร บริหารจัดการองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมทั้ง สร้างบรรยากาศให้พนักงานตระหนักถึงความสําคัญของการดําเนินงานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของการไฟฟ้านครหลวง
  5. ฝ่ายแผนกลยุทธ์ รับผิดชอบในการสนับสนุนการดําเนินงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามกระบวนการยุทธศาสตร์ของการไฟฟ้านครหลวง ตลอดจนติดตามผลการดําเนินงานนําเสนอ คณะผู้บริหาร คณะอนุกรรมการพิจารณาแผนวิสาหกิจและการลงทุน และคณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวง ตามลําดับ อย่างน้อยเป็นรายไตรมาส
  6. ฝ่ายกิจการสังคมและสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบการสนับสนุนการดําเนินงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนตามประเด็นความยั่งยืนของการไฟฟ้านครหลวง ตลอดจนติดตามผลการดําเนินงาน นําเสนอคณะผู้บริหาร คณะอนุกรรมการบริหารผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวง ตามลําดับ อย่างน้อยเป็นรายไตรมาส และการจัดทํารายงานความยั่งยืนของการไฟฟ้านครหลวงรายปี

กระบวนการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของการไฟฟ้านครหลวง

ประกอบด้วยกระบวนงานที่สำคัญ 6 ขั้นตอน มีรายละเอียดดังนี้ 



  1. ฝ่ายกิจการสังคมและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำผลการดำเนินงานจากปีที่ผ่านมา แนวโน้มด้านความยั่งยืนในอนาคตทั้งในระดับสากลและประเทศ รวมถึงนโยบายต่างๆ มาวิเคราะห์เพื่อทบทวน จัดทำนโยบาย วัตถุประสงค์ ขอบเขต และแนว ปฏิบัติเพื่อความยั่งยืน และนำเสนอคณะผู้บริหารจัดการผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม คณะอนุกรรมการบริหารผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวง เพื่อพิจารณาเห็นชอบตามลำดับ
  2. คณะผู้บริหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาคัดเลือกจากประเด็นความยั่งยืนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจไฟฟ้า (Electric Utility relevant topics :EU) และประเด็นสําคัญ (Key Issue) จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สําคัญ เพื่อพิจารณาจัดลําดับความสําคัญ ปัจจัยความยั่งยืน และนำส่งให้ฝ่ายแผนกลยุทธ์เพื่อนําปัจจัยยั่งยืนเป็นข้อมูลนําเข้าในกระบวนการจัดทําแผนวิสาหกิจของการไฟฟ้านครหลวง ในขั้นตอนการรวบรวม วิเคราะห์ ประเมินสภาพแวดล้อมและ สถานภาพองค์กร เพื่อกําหนดวิสัยทัศน์ ภารกิจ ค่านิยม สมรรถนะหลักขององค์กร บริบท เชิงยุทธศาสตร์
  3. ฝ่ายแผนกลยุทธ์ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทําแผนปฏิบัติเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อขับเคลื่อนวัตถุประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ และวิสัยทัศน์ของการไฟฟ้านครหลวง ที่ครอบคลุม การพัฒนาที่ยั่งยืนของการไฟฟ้านครหลวง สอดคล้องกับตัวชี้วัด GRI ในส่วนของแผนปฏิบัติ เชิงยุทธศาสตร์ (Action Plan) ฝ่ายกิจการสังคมและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับคณะทํางาน และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปรับปรุงกระบวนการทํางานตามงานประจํา (Daily Operation) ที่ สอดคล้องกับตัวชี้วัด GRI เพื่อผลักดันปัจจัยยั่งยืน ในกระบวนการทํางานตามงานประจําของหน่วยงาน
  4. หน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพ และหน่วยงานสนับสนุนวัตถุประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ในแต่ละด้าน ดำเนินการตามแผนปฏิบัติเชิงยุทธศาสตร์ ตามเป้าหมาย และตัวชี้วัดแผนปฏิบัติฯ เพื่อขับเคลื่อนให้วัตถุประสงค์เชิงยุทธศาสตร์บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนด ที่สอดคล้องกับตัวชี้วัด GRI เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในส่วนแผนยุทธศาสตร์ (Strategic Plan) และ หน่วยงานที่สอดคล้องกับตัววัด GRI ให้ดำเนิน การปรับปรุงหรือดำเนินการ เพิ่มเติมตามแผนแม่บท/แผนปฏิบัติที่กำหนด เพื่อผลักดันให้บรรลุตามตัววัด GRI เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในส่วนของงานตามภารกิจ (Daily Operations)
  5. ฝ่ายกิจการสังคมและสิ่งแวดล้อม รวบรวมติดตาม ข้อมูล ผลการดำเนินงาน และ ประสานขอข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามตัวชี้วัด ตามหลักการ Global Reporting Initiative (GRI) และสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสากล (Sustainable Development Goals (SDGs) ทั้งในส่วนของแผนยุทธศาสตร์ และงานประจำ ตามตัวชี้วัด GRI เพื่อจัดทำร่างรายงานความยั่งยืนของการไฟฟ้านครหลวง และ นำเสนอขอความเห็นชอบจากฝ่ายบริหาร และใช้เป็นข้อมูลการทบทวน นโยบาย แนวปฏิบัติการพัฒนาความยั่งยืนในปีถัดไป
  6. ทบทวนและปรับปรุงระบบงานผ่านการ จัดทำแบบประเมินประสิทธิผลของกระบวนการปฏิบัติงานในระดับขั้นตอน/องค์ประกอบย่อย เพื่อวิเคราะห์และสรุปแนวทางในการแก้ไขปัญหาหรืออุปสรรคที่ส่งผลต่อการดำเนินงาน ตลอดจนยกระดับการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นตามหลักการ PDCA


การทบทวนนโยบาย

  1. คณะอนุกรรมการบริหารผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและความรับผิดชอบต่อสังคมและ สิ่งแวดล้อม พิจารณาทบทวนนโยบาย และนําเสนอต่อคณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวง เพื่อทราบเป็นประจําทุกปี เพื่อให้มั่นใจว่านโยบายดังกล่าวยังเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม การดําเนินงานขององค์กร
  2. ในกรณีที่คณะผู้บริหารระดับสูง พบว่านโยบายไม่เหมาะสมกับสภาพการดําเนินงาน ต้องนําเสนอต่อคณะอนุกรรมการบริหารผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อพิจารณาการปรับปรุงนโยบาย และนําเสนอคณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวง เพื่อทราบ