การไฟฟ้าในประเทศไทย

เมืองไทยเราสมัยปู่ย่าตาทวด นอกจากจะอาศัยแสงสว่างจากดวงอาทิตย์แล้ว ก็มีเทียนไขและตะเกียงชนิดต่างๆ บางทีเอาหญ้าปล้องมาแซะเอาไส้ออก แล้วผึ่งแดดไว้ให้แห้งเพื่อเอาไปทำไส้ตะเกียง ส่วนผู้ที่มีฐานะดีสักหน่อยก็ใช้ตะเกียงน้ำมันก๊าด เป็นโคมที่มีหูหิ้ว เรียกว่า “ตะเกียงรั้ว” ที่เรียกกันเช่นนี้ก็เพราะเมื่อแรกสั่งเข้ามาใช้นั้น เอามาจุดประดับตามรั้วเวลามีงาน

รอบตะเกียงรั้วมีโป๊ะแก้วกันลมได้ ตะเกียงอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า “ตะเกียงแมงดา” มีลักษณะกลมๆ นูนเล็กน้อยและค่อนข้างแบนคล้ายรูปแมงดา ในหม้อมีน้ำมันก๊าดบรรจุอยู่ มีท่อเล็กๆ ต่อจากหม้อน้ำมันลงมาที่ปลายท่อ มีรูเล็กๆ ที่เรียกว่า “นมหนู” เมื่อน้ำมันหยดลงมาตะเกียงก็จะสว่างขึ้น นอกจากนี้ยังมีตะเกียงที่ไขลานให้หมุนใบพัดเป่าลมให้เปลวไฟตั้งตรง ทำให้แสงไฟไม่วูบวาบ เย็นตา และไม่มีควัน ส่วนตะเกียงเจ้าพายุก็มีใช้อยู่ทั่วไป

ไฟฟ้าในเมืองไทยเริ่มครั้งแรก

บิดาเเห่งการไฟฟ้าไทย จอมพลและมหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) ครั้งยังเป็นหมื่นไวยวรนาถ เป็นอุปทูตได้เดินทางไปยุโรป กับเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ และได้เห็นกรุงปารีส (Paris) ประเทศฝรั่งเศสสว่างไสวไปด้วยไฟฟ้า เมื่อกลับมาเมืองไทย จึงนึกถึงเมืองไทยน่าจะมีไฟฟ้าใช้ แบบเดียวกับ อารยประเทศ และการที่จะทำให้สำเร็จได้ คงต้องเริ่มภายในพระบรมมหาราชวังและบ้านเจ้านายก่อน จึงได้นําความขึ้นกราบ บังคมทูล พระบาท สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่มีพระราชดํารัสว่า “ไฟฟ้า หลังคาตัด ข้าไม่เชื่อ" เมื่อเป็นเช่นนี้ หมื่นไวยวรนาถตระหนักว่าก่อนที่จะเริ่มดำเนินการ จำเป็นต้อง หาวิธีจูงใจ ให้ผู้ที่ไม่เคยเห็นเคยใช้ไฟฟ้าเกิดความนิยมขึ้นมาก่อน จึงนําความไปกราบบังคมทูล สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชเทวี ให้ทรงรับซื้อที่ดิน ซึ่งได้รับมรดกจากบิดา ณ ตำบลวัดละมุด บางอ้อ ได้เป็นเงิน 180 ชั่ง หรือ 14,400 บาท ปรากฏว่าเป็นผลสำเร็จ แล้วให้นายมาโยลา ชาวอิตาเลียน ที่มารับราชการเป็นครูฝึกทหาร เดินทางไปซื้อเครื่องจักรและเครื่องไฟฟ้าที่ประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2427

โดยให้ซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้ามาสองเครื่อง เพื่อจะได้ผลัดเปลี่ยนกันได้ และซื้อสายเคเบิล สำหรับฝังสายใต้ดินจากโรงทหารหน้า (ปัจจุบันคือกระทรวงกลาโหม) ไปจนถึง พระบรมมหาราชวัง และจัดซื้อโคมไฟชนิดต่างๆ รวมทั้งหลอดไฟสำหรับใช้กับ โคมกิ่งระย้า ในพระที่นั่งจักรี มหาปราสาทและในท้องพระโรง โดยเดินเครื่องปล่อย กระแสไฟฟ้าเป็นครั้งแรก

history mea

เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2427

ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาเมื่อ ปรากฏว่าไฟฟ้าเป็นที่นิยมกันแพร่หลายทั้งในราชสำนัก วังเจ้านาย และชาวบ้านผู้มีอันจะกิน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานเงินที่ใช้จ่ายในการติดตั้งไฟฟ้า คืนให้หมื่นไวยวรนาถจึงวางแผนที่จะสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ เพื่อให้ประชาชนในกรุงเทพฯ ได้ใช้ไฟฟ้า แต่เกิดมีราชการสงครามต้องไปปราบฮ่ออยู่เป็นเวลานานเรื่องเลยระงับไว้

เพราะปรากฏว่าไม่ค่อยมีคนสัญจร บางสายต้องติดห่างๆ กัน เพราะภาษีบํารุงท้องที่ใน สมัยนั้นยังไม่มีเรื่องการติดตั้งไฟฟ้าตามถนนนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพิถีพิถันเอาพระทัยใส่ อยู่เป็นอันมาก เพราะพระองค์ทรงรู้ว่าไฟฟ้าเป็นของใหม่ คนไทยเรายังไม่ค่อยเข้าใจ ปิดเปิดสวิตช์ก็ยังไม่เป็น บางที่เปิดไฟทิ้งไว้ตลอดคืนก็มี ทำให้หมดเปลืองพระราชทรัพย์ไปโดยเปล่าประโยชน์ การติดไฟตามถนนจึงต้องรู้ว่า ถนนใดคนเดินมากเดินน้อย

อย่างไรก็ตาม นอกจากจะใช้ไฟฟ้าเพื่อแสงสว่างแล้ว ยังมีการนําไปใช้กับด้านพลังงานด้วย นั่นคือ มีการจัดตั้ง บริษัทรถรางขึ้น เพื่อช่วยให้การสัญจรในกรุงเทพฯ และหัวเมืองบางแห่งเป็นไป อย่างสะดวก ถึงแม้ราคาค่าไฟที่หลวงใช้ถูกกว่าชาวบ้านก็จริง แต่การใช้ไฟฟ้าในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ต้องประหยัด ตามถนนบางสายก็ไม่มีไฟฟ้า

เรื่องเกี่ยวกับไฟฟ้านี้ ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ ครั้งยังเป็น หมื่นเสมอใจ ฉบับแรก ได้ตรัสถึง การติดไฟฟ้ามีข้อความตอนหนึ่งว่า "ไฟฟ้าควรจะมีแต่ เพียงตะพานเทเวศร์ ไปตะพานกิมเซ่งหลี ถนนตะวันไปถึงถนนเบญจมาศ ถนนตวงเดือนนอก ถนนดาวข่าง ส่วนถนนคอเสื้อแลปลายพฤฒินาศ ถ้ามีก็ได้ แต่จะต้องรอดูสักหน่อยก่อน พอให้มีเค้าคนเดิน เพราะเหตุที่ถนนหน้าวัดโสมนัสไม่มีไฟฟ้ารอไว้ตั้งแต่ครึ่งปีก็ได้"

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกล่าวถึงค่าไฟฟ้าและการใช้ไฟฟ้า "เรื่องไฟฟ้านั้นจะต้องวินิจฉัยต่อภายหลัง เวลานี้ทำอะไรไม่เปลือง แต่เกิดมา เป็นคนไทยไม่รู้จักเปิด รู้จักปิด จะไปเล่นกับไฟฟ้า คิดเป็นยูนิตมันก็ฉิบหายอย่างเดียวเท่านั้น ข้อซึ่งได้กล่าวว่า จัดคนไว้ให้คอยเปิดคอยปิดอะไรเปล่าทั้งนั้น สั่งมัน ๆ ก็รับ แต่ว่ามันไม่ได้ทำ ไฟติดอยู่วันยันค่ำ ถนนรนแคมแดงโร่อยู่เสมอ ร้ายไปกว่าที่จุดตามเรือน ซึ่งคงไม่ปิดเหมือนกันสักแห่งเดียว เพราะไม่มีเครื่องที่จะแบ่งปิดได้ ปิดก็ต้องปิด ทั้งหมด ถ้าจะให้เจ้าของเรือนทั้งปวงรู้สึกเสียดาย แล้วจะจ่ายเป็นเงินพระราชทานเสีย ค่าไฟฟ้าเสียวันละเท่านั้นๆ แล้วแต่จะใช้มาก ใช้น้อยกันเป็นเรือนดีกว่า เหลือเงินไป มากน้อยเท่าใด เจ้าของอยากจุดก็ให้เสียเงินเอง เจ้าตั้งบิลไปเรียกเอา แต่ข้อสำคัญ จะต้องติดที่ดับไว้ให้เขาผ่อนใช้ได้ มากบ้างน้อยบ้างตามสมควร แต่ส่วนถนนแลพลับพลานั้นจะต้องกำหนดว่าจุด 12 ชั่วโมง เท่าไหร่ยูนิต ถ้าคิดราคามันเกิน 12 ชั่วโมง เท่าใดต้องให้ใช้เจ้า ถ้าหากว่าเป็นเช่นนี้ไฟจึงจะดับได้ ความฉิบหายเรื่อง ไม่ดับไฟนี้ สุขาภิบาลทั้ง 2 กรม เห็นจะทำให้เงินแผ่นดินเสียเปล่ามากโดยไม่เอื้อเฟื้อ"

ค่าไฟฟ้าสำหรับใช้ตามถนนและในพระราชวังในสมัยนั้น คงจะสิ้นพระราชทรัพย์ ปีหนึ่งๆ ไม่ใช่น้อย ยิ่งเมื่อสร้างสวนดุสิต คือ พระราชวังดุสิตกับพระที่นั่งอนันตสมาคม ตลอดจนโครงการประปา ความจําเป็นที่ต้องใช้ไฟฟ้าก็ทวีมากขึ้นอีกหลายเท่า แต่จะไปซื้อไฟฟ้าอีกบริษัทหนึ่งก็ไม่ไหวและทางบริษัทเองก็ไม่สามารถบริการได้ ทางกระทรวงนครบาลจึงได้กราบบังคมทูล ซึ่งในที่สุดก็ได้รับพระบรมราชานุญาตให้จัดทำไฟฟ้าขึ้น

องค์กรที่ดำเนินกิจการไฟฟ้าในระยะแรกมี 2 แห่ง

แห่งแรก คือ ไฟฟ้ากรุงเทพ

history mea

พ.ศ. 2430
รัฐบาลได้ให้สัมปทานการเดินรถรางแก่นายจอห์น ลอฟตัส กับนาย เอ. ดูเปลซี เดอ ริเซอเลียว เนื่องจากยังไม่มีไฟฟ้า จึงต้องใช้ม้าลากเปิดดำเนินการอยู่พักหนึ่งแต่ขาดทนุ

พ.ศ. 2437
โอนกิจการให้ บริษัท เดนมาร์ก ขณะนั้นประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปยังไม่มีรถรางไฟฟ้า แม้แต่กรุงโตเกียว เมืองหลวงของประเทศญี่ปุ่น เยเมียน กว่าจะมีรถรางไฟฟ้าใช้ก็หลัง เมืองไทยร่วมสิบปี

พ.ศ. 2443
บริษัท เดนมาร์ก ขายกิจการให้แก่ บริษัท บางกอก อีเล็คตริคซิตี้ ไลท์ ซินดิเคท แต่กิจการไม่เจริญเท่าที่ควร จึงได้โอนกิจการให้แก่บริษัท ไฟฟ้าสยาม จํากัด มีชาวเดนมาร์กซื้อ นาย อ็อก เวสเตนโฮลส์ เป็นผู้ดําเนินการตั้งสํานักงานอยู่ที่วัดเลียบ

พ.ศ. 2482
จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ไฟฟ้าไทย คอร์ปอเรชั่น จํากัด

พ.ศ. 2493
หมดสัมปทาน รัฐบาลจึงเข้าดําเนินงานแทนและเปลี่ยนชื่อเป็น การไฟฟ้ากรุงเทพ เป็นหน่วยงานหนึ่งในสังกัด กระทรวงมหาดไทย ทำหน้าที่ผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้า แก่ประชาชน ที่อาศัยอยู่ ในบริเวณตอนใต้ของ คลองบางกอกน้อย และคลองบางลำภู

แห่งที่ 2 กองการไฟฟ้าหลวงสามเสน

history mea

กำเนิดขึ้นจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงตระหนัก ถึงความสำคัญของพลังงานไฟฟ้า และ สายพระเนตรอันยาวไกลของพระองค์ ว่าต่อไป บ้านเมืองจะเจริญขึ้นไปทางด้านเหนือของพระนคร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังดุสิตเป็นที่ประทับ โดยที่พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นท้องพระโรง เพื่อให้ได้กำลังไฟฟ้าราคาถูก และ สะดวกในการ เดินเครื่องสูบน้ำของการประปา ด้วยทรงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เสนาบดีกระทรวงนครบาล และผู้บังคับบัญชา กรมสุขาภิบาลในขณะนั้น ดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อผลิต กระแสไฟฟ้าจำหน่ายแก่ประชาชน โดยให้มีการจัดการ เช่น การค้าขายทั่วไป หรือรัฐวิสาหกิจในปัจจุบัน เจ้าพระยายมราชจึงกู้เงินจากกระทรวงการคลัง จำนวน 1,000,000 บาท โดยเสียดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการสร้างโรงงานไฟฟ้าและดำเนินงานผลิต จำหน่ายกระแสไฟฟ้าและขอโอน นายเอฟบี ซอว์ นายช่าง ไฟฟ้าชาวอังกฤษ จากกรมโยธาธิการมาเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ใช้วิธีเรียกประกวดราคาและบริษัท อัลเกไมเนอิเลคตริซิเตทส์ เกเซ็ลชาฟท์ (Algameine Elektricitats-Geselschaft) หรือ ที่รู้จักกันดีในปัจจุบันนี้ในนามบริษัท AEG จากประเทศเยอรมนี เป็นผู้ประมูลได้และทำการก่อสร้าง

จนกระทั่งวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2456 กองไฟฟ้าหลวงสามเสน จึงได้เริ่มทดลองเดินเครื่องจักร ผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นครั้งแรก และเริ่มจําหน่ายกระแสไฟฟ้า ให้แก่ ประชาชนอย่างเป็นทางการ ราวต้นปี พ.ศ. 2457 โดยมีเขตจําหน่ายอยู่บริเวณตอนเหนือของคลองบางกอก น้อย และคลองบางลำภู

- 20 ธันวาคม พ.ศ. 2456 :
กองไฟฟ้าหลวงสามเสนจึงได้เริ่มทดลองเดินเครื่องจักรผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นครั้งแรก

history mea

วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2501

รัฐบาลได้รวมกิจการการไฟฟ้ากรุงเทพและกองไฟฟ้าหลวงสามเสน เป็นรัฐวิสาหกิจโดยใช้ชื่อ การไฟฟ้านครหลวง ซึ่งถือว่าเป็น วันสถาปนาการไฟฟ้านครหลวง อย่างเป็นทางการ